Title: “ท้องเสียในเด็ก”… เป็นเรื่องธรรมดาๆ จริงหรือ ????? Post by: nuch on January 29, 2010, 03:53:16 PM “ท้องเสีย” หรือบางครั้งเรียกว่า “ท้องร่วง” อุจจาระร่วง” หรือ “ลำไส้อักเสบ” ใช้เรียกเมื่อถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกหรือมูกปนเลือด
อาการท้องเสียส่วนใหญ่มักดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน คนส่วนใหญ่จึงมักมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่ในบางครั้งอาการท้องเสียอาจเป็นนาน 5-7 วันได้ หรือกลายเป็นชนิดเรื้อรัง นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง ในบางครั้งอาจเกิดภาวะขาดน้ำซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะช็อกได้ มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีภาวะขาดอาหารตามมาได้ ดังนั้นอาการท้องเสียอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ เสมอไปก็ได้ ในวัย 2-3 เดือนแรก อาการท้องเสียมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค เนื่องจากการดูแลความสะอาดของขวดนมไม่เหมาะสม เช่น ไม่ต้มขวดนมและจุกนม ปัจจุบันอาการท้องเสียจากสาเหตุนี้พบน้อยลง อาการท้องเสียพบได้บ่อยที่สุดในวัยเด็กเล็กอายุ 4-6 เดือนขึ้นไป มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค เนื่องจากเด็กในวัยนี้มักมีความสนใจหยิบจับสิ่งต่างๆ เข้าปากหรือชอบดูดนิ้วมือ คนรุ่นเก่ามักเรียกอาการท้องเสียในวัยนี้ว่าเป็นอาการ “ยืดตัว” เนื่องจากอาการท้องเสียมักเกิดในช่วงที่เด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ (เช่น คืบ คลาน นั่ง เกาะยืน) พอดี สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป อาการท้องเสียมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเรียกว่า “ไวรัสลงลำไส้” หรือเกิดจากอาหารเป็นพิษ ไวรัสที่สำคัญคือไวรัสโรต้า เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการไข้สูง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาจเกิดอาการขาดน้ำ และอาจมีการอักเสบของผิวหนังบริเวณก้นเนื่องจากเด็กไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็คโตสได้ เชื้อไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็กอายุ 5 ขวบปีแรก ในประเทศไทยโรคท้องเสียจากเชื้อไวรัสนี้พบได้บ่อยตลอดทั้งปี แต่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ซึ่งมีอากาศเย็นและแห้ง เชื้อแบคทีเรีย เช่น อหิวาห์ บิด ทัยฟอยด์ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากสุขอนามัยที่ดีขึ้น อาการท้องเสียส่วนใหญ่หายได้เองโดยอาจไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาเบื้องต้นจะทำให้ผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น ลดโอการในการเกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรง และลดโอกาสในการต้องพบแพทย์หรือต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การดูแลรักษาเบื้องต้น ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารและดื่มนม การดื่มน้ำเกลือแร่ และการดูแลรักษาตามอาการที่พบร่วมด้วย ที่มา : จุฬาคิดส์คลับ |