Title: ทดสอบสัญญาณฮัลโหล Post by: phanwit on June 30, 2010, 05:41:51 PM ทดสอบสัญญาณฮัลโหล
วันพุธ ที่ 30 มิถุนายน 2553 เวลา 0:00 น เดลินิวส์ รอจุฬาฯฟันธงอุปกรณ์ โครงการทดสอบสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วกรุงเทพฯ คืบหน้า “ฟรีวิลล์” จ้างรถตู้ติดอุปกรณ์เก็บข้อมูล 5 วัน พร้อมส่งข้อมูลให้นักวิชาการวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ฟันธงมาตรฐานอุปกรณ์ คาด 2 สัปดาห์รู้ผล ก่อนเดินหน้าเก็บข้อมูลทั่วกรุงเทพฯ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึงโครงการวัดคุณภาพสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัท ฟรีวิลล์ เอฟเอ็กซ์ จำกัด ผู้พัฒนาอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ นำ อุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งบนรถตู้จำนวน 1 คัน วิ่งเส้นทางวงแหวนรอบนอก และทางด่วน เพื่อเก็บข้อมูลความแรง-อ่อนของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งนำอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่มาติดตั้งที่อาคารสำนักงาน ของ สบท. เพื่อเก็บข้อมูลเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งขณะนี้ได้ส่งข้อมูลและอุปกรณ์ให้นักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลว่ามีความแตกต่างจากการใช้อุปกรณ์ทดสอบสัญญาณ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของต่างประเทศหรือไม่ นพ.ประวิทย์ ระบุว่า นักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่าอุปกรณ์มีความเสถียร สบท.จะดำเนินการเก็บข้อมูลทดสอบความแรง-อ่อนของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทันที เบื้องต้นจะเก็บข้อมูลสัญญาณโทร ศัพท์เคลื่อนที่ทั่วกรุงเทพฯ ก่อนขยายสู่ทั่วประเทศ นายดนย์ ปลูกสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟรีวิลล์ เอฟเอ็กซ์ กล่าวว่า ขณะนี้อุปกรณ์ทดสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในขั้นทดสอบเพื่อรองรับ มาตรฐาน ซึ่งมีแนวทางการเก็บข้อมูลดังนี้ ช่วงแรกเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้นักวิชาการ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำข้อมูลไป วิเคราะห์ โดยผลวิเคราะห์จะส่งให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยให้กับบริษัท ฟรีวิลล์ เอฟเอ็กซ์ จำกัด หลังจากได้ผลการวิเคราะห์เพื่อยืนยันมาตรฐานความน่าเชื่อถือแล้ว จะเป็นการเก็บข้อมูลโดยติดตั้งอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่กับรถ แท็กซี่และรถเมล์ รวม 20 คันต่อไป “สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใน สบท. เป็นการเก็บข้อมูล 2 ส่วน คือ ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ขณะใช้งาน และการเชื่อมต่อกันของอุปกรณ์กับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเก็บข้อมูลว่าความรู้สึกของผู้บริโภคขณะใช้งาน และการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่” นายดนย์ กล่าว. |