ร้องศาลปค.ไต่สวนปตท.ทวงสมบัติชาติ1.8 แสนล.โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
3 มีนาคม 2552 23:23 น. “สารี” นำทีมผู้บริโภคทวงคืนสมบัติแผ่นดินจากปตท. ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนกรณีปตท. คืนทรัพย์สินแผ่นดินให้รัฐไม่ครบ ยังเหลืออีกกว่า 189,715 ล้านบาท แฉพฤติกรรมหมกเม็ด ปตท.ทำเพิกเฉยไม่ส่งคืนทรัพย์สินตามการตรวจสอบของสตง. กว่า 3.2 หมื่นล้าน กรมธนารักษ์ออกโรงป้องปตท. ตีความส่งคืนทรัพย์สินแค่16,176 ถูกต้องแล้ว ด้านกบง.รีบอนุมัติแผนจ่ายหนี้แอลพีจีคืนปตท. 7,900 กว่าล้าน ในเดือนเม.ย.นี้ ไม่สนถูกติงมีเงื่อนงำ
วานนี้ (3 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ายื่นหนังสือคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เปิดไต่สวนกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาล โดย ปตท. ได้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินเพียง 16,176 ล้านบาท ยังเหลือทรัพย์สินแผ่นดินที่ไม่ได้โอนคืนอีกกว่า 189,715 ล้านบาท
การยื่นคำร้องครั้งนี้ เป็นผลมาจากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม 5 คน โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น
นางสาวสารี กล่าวว่า ทรัพย์สินซึ่งบริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธ.ค. 51 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน 1.42 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.69 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ต.ค. 44 ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริษัทปตท. ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 32,613 ล้านบาท
นอกจากนั้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 44 นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชนซึ่ง ปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน
ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ต้องคืนให้กับกระทรวงการคลัง แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการแปรรูปที่ใช้ที่ดินราชการและที่สาธารณะ ได้แก่ แนวท่อส่งก๊าซที่อยู่ในที่ดินทางหลวงและในทะเล มูลค่ารวม 32,613 ล้านบาท (ตามการตรวจสอบของสตง.)
กลุ่มที่สอง คือ ทรัพย์สินหลังการแปรรูปกิจการในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติกว่า 10 โครงการ มูลค่า 157,102 ล้านบาท ได้แก่ การรอนสิทธิที่ดินเอกชนในการวางระบบท่อก๊าซหลังการแปรรูป คือ ท่อก๊าซเส้นระยอง-บางปะกง, บางปะกง-วังน้อย, วังน้อย-แก่งคอย,ไทรน้อย-พระนครใต้/เหนือ ไทย-มาเลเซีย รวมถึงระบบท่อส่งก๊าซทั้งที่อยู่ในทะเลและในเขตทางหลวงที่ก่อสร้างหลังการแปรรูป อาทิ เช่น ท่อเส้นที่ 3 ท่อแยกไปราชบุรี ท่อแยกไปทับสะแก ท่อไทย-มาเลเซีย รวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มเท่ากับ 189,715 ล้านบาท
นางสาว สารี กล่าวย้ำว่า เหตุที่ทรัพย์สินที่ได้มาหลังการแปรรูปของ ปตท. ถือเป็นของแผ่นดินเพราะว่าหลังแปรรูป ปตท.ยังใช้อำนาจมหาชน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐเพื่อการรอนสิทธิที่ดิน ใช้ที่ดินราชการ และที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของบริษัทปตท.
ผู้ฟ้องคดี จึงร้องต่อศาลฯ ขอได้โปรดทำการไต่สวนและออกหมายเรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องแบ่งแยกคืนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินเพิ่มเติมเป็นมูลค่าอีก 189,715 ล้านบาทให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ทำการแบ่งแยกคืนให้รัฐทั้งสิ้น ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มูลนิธิผู้บริโภคร้องศาลฯให้ไต่สวนปตท. เพื่อส่งมอบคืนทรัพย์สิน มีดังนี้ ทรัพย์สินในโครงการท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งได้มาก่อนแปรรูป 1 ต.ค. 44 แยกเป็น ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินหรือเป็นที่ตั้งของทรัพย์สิน ส่วน ก) ที่ดินเอกชนเดิม ที่เวนคืนและรอนสิทธิ คือ ท่อส่งก๊าซฯ ระยอง-บางปะกง-พระนครใต้ (ท่อสายประธาน) ทรัพย์สินที่ได้มาจากการรอนสิทธิ คือ ท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-วังน้อย (ท่อคู่ขนาน) ท่อก๊าซฯ จากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และราชบุรี – วังน้อย รวมที่ดิน/สิทธิและระบบท่อ มูลค่า 16,176 ล้านบาท ส่วนนี้ปตท.ส่งมอบคืนรัฐแล้ว
ทรัพย์สินส่วนที่เป็นทรัพย์สินหรือเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินในที่ดินราชการ ตามแนวทางหลวงซึ่งเวนคืนจากเอกชน คือ ท่อบางส่วนของโครงการท่อสายประธานและท่อคู่ขนาน, ท่อสายประธาน บาลพลี –สระบุรี มูลค่า 14,393 ล้านบาท และส่วนท่อก๊าซฯในที่สาธารณะ คือ ท่อในทะเลในเขตน่านน้ำของไทย ประกอบด้วยท่อเส้นที่ 1 (ท่อสายประธาน) ท่อเส้นที่ 2 (ท่อคู่ขนาน) และท่อเส้นเอราวัณ-ขนอม มูลค่า 18,220 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้ตามการตรวจสอบของ สตง. ทาง ปตท. ต้องส่งคืนรัฐ รวมมูลค่า 32,613 ล้านบาท
กลุ่มทรัพย์สินที่ได้มาหลังการแปรรูป ประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซฯ บนที่ดินเอกชนเดิมที่มีการเวนคืนและรอนสิทธิ ประกอบด้วย เส้นระยอง – บางปะกง (ท่อเส้นที่ 3), บางปะกง-วังน้อย, วังน้อย – แก่งคอย, ไทรน้อย – พระนครเหนือ/ใต้, ไทย – มาเลเซีย บวกหน่วยเพิ่มความดัน 3 จุด และหน่วยเพิ่มความดันในทะเล/บก
ท่อก๊าซฯ บนที่ดินราชการตามแนวทางหลวงซึ่งเวนคืนจากเอกชน ประกอบด้วยท่อบางส่วนของโครงการในส่วน ก) และส่วนท่อก๊าซฯ ในที่สาธารณะคือ ท่อในทะเลและในเขตน่านน้ำของไทย ประกอบด้วย ท่อเส้นที่ 3, ท่อแยกไปราชบุรี, ท่อแยกไปทับสะแก และท่อไทย-มาเลเซีย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ ปตท. ใช้พรฎ.อำนาจ สิทธิ บริษัท ปตท. ภายหลังการแปรรูป 157,019 ล้านบาท
***ธนารักษ์ป้อง ปตท.
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เปิดเผยกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นคำร้องให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนกรณี บมจ.ปตท. คืนทรัพย์สินแผ่นดินให้รัฐไม่ครบ ยังเหลืออีกกว่า 189,715 ล้านบาท ว่า หลังศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อปลายปี 50 ให้ บมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน กรมธนารักษ์จึงร่วมกับ บมจ.ปตท. พิจารณาว่ามีที่ดิน ท่อก๊าซและทรัพย์สินเหนือแผ่นดินที่ใดบ้างที่จะต้องคืนให้รัฐ ซึ่งจากข้อสรุปพบว่า บมจ.ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือน ธ.ค.51 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท และรายละเอียดทั้งหมดกรมธนารักษ์ได้ส่งให้ศาลปกครองพิจารณาแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ศาลฯยังไม่ได้ส่งหนังสือกลับคืนหรือท้วงติงแต่อย่างใด
"การตีความว่าทรัพย์สินที่ ปตท.คืนให้แผ่นดินครบหรือไม่ กรมธนารักษ์ได้ตีความร่วมกับ ปตท. ว่ามีพื้นที่หรือทรัพย์สินส่วนใดบ้าง ซึ่งทั้งหมดเรายืนยันว่าถูกต้องและได้ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาแล้วทั้งหมด ส่วนที่เหลือที่ ปตท.จะต้องคืนหรือไม่เราไม่ทราบ ซึ่งคงต้องให้ศาลปกครองพิจารณา" นายอำนวยกล่าว
**** กบง.รีบอนุมัติแผนจ่ายหนี้แอลพีจีคืนปตท.
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วานนี้(3มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติใช้คืนหนี้นำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ในช่วงปี’51 ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระนำเข้าไปเป็นเงินรวม 7,948 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายได้ในเดือนเม.ย.นี้หลังเป็นช่วงที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหมดภาระการดูแลการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันหมดลง
“การจ่ายหนี้จะแยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกจะจ่ายหนี้ใหม่ได้ทันทีคือตั้งแต่การนำเข้าในเดือนม.ค. 2552 เป็นต้นไปแต่วงเงินจะต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือน หากเกินก็จะต้องเข้ากบง.เห็นชอบก่อน ซึ่งหากขอเคลมมาก็จ่ายทันที ส่วนหนี้เก่าที่นำเข้าและจ่ายไปแล้วทั้งหมดคือ 7,948 ล้านบาทจะทยอยจ่ายเป็นเวลา 2 ปี น่าจะเริ่มเดือนเม.ย.” รมว.พลังงานกล่าว
สำหรับรายได้ของกองทุนฯเมื่อหมดภาระดูแลภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็จะมีเงินไหลเข้าเดือนละ 3,000 ล้านบาทก็จะมาดูการบริหารในการนำมาจ่ายคืนหนี้ปตท.ในแต่ละช่วงจังหวะที่เหมาะสม และเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมนโยบายแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมาในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาแอลพีจีที่ประชุมมีมติให้ชะลอการปรับราคาก๊าซแอลพีจีออกไปก่อน เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 26 ก.พ. 52 นั้น มีเงินสุทธิ 19,840 ล้านบาท มีหนี้สิ้นกองทุน 3,223 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 3,011 ล้านบาท และงบประมาณบริหารและโครงการซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว 212 ล้านบาท
อนึ่ง การจ่ายหนี้จากการนำเข้าแอลพีจีให้ปตท. ถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่า มีการนำเข้าแท้จริงหรือไม่และขอให้ ปตท. แสดงรายละเอียดต่อสาธารณชนให้ชัดเจน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เข้ามาตรวจสอบตามที่มีกลุ่มตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี มายื่นข้อร้องเรียน
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9520000024542