พัฒนาการปกติ เดือนที่ 10 “ ล้อเล่นน่า” เด็กอายุ 10 เดือนนี้ จะยังคงมีขั้นตอนการพัฒนาการ ในด้านต่างๆ ไม่เท่ากันทีเดียว บางคน อาจจะสามารถเกาะยืน ตั้งไข่ และเริ่มเดินได้ 1-2 ก้าว ขณะที่อีกคน ยังเอาแต่คลาน แต่สามารถทำท่าทาง และส่ง” ภาษา” ได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรจะนั่งได้ด้วยตนเองอย่างสบายๆ เด็กบางคน อาจจะชอบที่จะเล่นกับคนรอบข้าง ใครก็ได้ แต่บางคน อาจจะเอาแต่คุณแม่ หรือพี่เลี้ยงเท่านั้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำกันบ้างเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเหตุให้คุณต้องกังวลใจ เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่ลูกพร้อม เขาก็จะสามารถเปลี่ยน จากการคลานอย่างเดียว มาเป็นเดินได้เร็วไม่แพ้เด็กคนอื่นๆ แม้ว่าเขาจะเริ่มช้ากว่าอีกคนหนึ่ง
ช่วงนี้เด็กจะชอบนั่งเล่นรื้อของ ใช้มือทั้งสองทำโน่นทำนี่ เมื่อเขาเมื่อย หรือเบื่อก็จะสามารถล้มตัว ลงนอนได้เอง และสามารถลุกขึ้นมานั่งได้เองอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องการ เขาจะชอบที่จะปีนป่ายถ้ามีโอกาส ส่วนใหญ่จะเริ่มอยู่ในท่ายืนบ้าง แต่ก็จะยังไม่สามารถทรงตัวได้ดีนัก บางคนจะเกาะเดินไปรอบๆโซฟา ได้ไกลพอควร และ
ส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถเดินได้เอง เด็กจะพยายามฝึกฝนตนเอง ทำให้บางครั้ง คุณจะพบว่า ลูกดูเหมือนตื่นขึ้นมากลางดึก แต่แทนที่จะนอนเล่น กลับพบว่าเขาเกาะยืนขึ้นมาในเตียง และเรียนรู้ว่า การเขย่าขอบเตียงทำให้เกิดเสียง และจะสามารถ เรียกความสนใจจากคุณได้ โดยไม่ต้องร้องไห้ ลูกจะนอนหลับได้ยาวนานขึ้น ในตอนกลางคืน และจะมีเวลานอนกลางวันน้อยลง บางครั้งเมื่อง่วง เด็กจะมีอาการโยเยมากขึ้น ดิ้นไปมานานพอควรกว่าจะหลับได้ คุณควรให้เวลากับเขา ในช่วงที่เขาเริ่มง่วง การกล่อม การโอบกอด จะช่วยเอาเขาหลับได้ง่ายขึ้น
ลูกจะชอบเล่น” ซ่อนหา” ซึ่งเป็นการต่อเนื่องมาจากการเล่น “จ๊ะเอ๋” โดยคราวนี้ เขาจะชอบเอาผ้ามาปิดหน้าเขา และคอยให้คนอื่นมาเปิด และทำท่าทักทายเขา ถ้าเขาเริ่มเอาผ้ามาปิดหน้าเขา แต่ไม่มีใครมาเปิดผ้าเล่นกับเขา เขาจะส่งเสียงเรียก ให้คุณมาหาเขา เช่นกัน บางครั้งแทนที่จะใช้ผ้าปิดหน้าเขา เขาจะใช้มือสองข้าง ปิดหน้าของเขาแทน ในคอนเซปต์ของเด็กในวัยนี้ก็คือว่า ถ้าเขามองไม่เห็นคุณ ก็เช่นกัน ที่คุณจะมองไม่เห็นเขา
ลูกจะชอบที่จะอ่านหนังสือ หรือดูรูปภาพ โดยเฉพาะเมื่อคุณอ่านให้เขาฟัง แม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจ ในทุกคำพูดของคุณ แต่เขาจะเริ่มเข้าใจ ในโทนเสียง และท่าทาง หรือภาพประกอบที่เขาได้เห็น ควรให้โอกาสเขาได้ “อ่าน” แต่ละหน้าหนังสือ ตามที่เขาต้องการ และไม่จำเป็นต้องพยายามอ่านให้จบเล่ม ในเวลาที่กำหนด
ลูกจะพูดคำบางคำง่ายๆ ได้ เช่น บ้าย-บาย, บูม (เวลานั่งลงก้นกระแทกพื้น และทำหน้าตลก) และจะเข้าใจคำต่างๆ ที่คุณพูดกับเขาได้มากขึ้นอีก เมื่อคุณถามว่า “ แม่อยู่ไหน ?” เขาจะชี้ได้ , “คนไหนคุณตา ?” เขาก็จะชี้ได้ถูกต้อง
การระวังเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ ก็ยังต้องเข้มงวด ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันดู ให้บริเวณที่เด็กอยู่นั้นปลอดภัยสำหรับเขา ประตูห้องน้ำควรจะปิด ให้เรียบร้อย เพราะเด็กจะชอบเข้าไปเล่น ในห้องน้ำ ซึ่งอาจจะมีอันตราย จากการจมน้ำ (แม้จะไม่ลึกเลย) หรือเอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาเล่น, ของต่างๆที่วางเกะกะ อยู่ในห้องเช่น มีด ขวดยา ฯลฯ เด็กจะเอาไปเล่น ซึ่งอาจมีอันตรายได้
แม้ว่าลูกอาจจะทำท่าชะงัก หรือหยุด เมื่อได้ยินคุณพูดว่า “อย่า” หรือ “ ไม่เอา” หรือแม้แต่ทำเสียงเลียนคุณว่า “ไม่” และอาจจะส่ายหน้าด้วย (ใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่า เขาจะรู้จัก คำว่า “ใช่” และรู้จักพยักหน้า) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้าใจ และยอมหยุดการกระทำนั้นๆ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเอง (Self-control) ได้ดีนัก และยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่เขาจะเริ่มควบคุมตนเองได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้นความใจเย็นของคุณและความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกว่า การที่เขาไม่ฟังเรานั้น ไม่ใช่เพราะว่า เขาดื้อจะเอาชนะเรา แต่เป็นเพราะเขายังไม่สามารถควบคุมสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น ทำให้เขาอยากทำสิ่งนั้นๆ ที่อยู่ต่อหน้า แม้ว่าคุณจะห้ามเขาแล้วก็ตาม จะช่วยให้คุณช่วยสอนเขา ให้รู้จักการควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และมีความปลอดภัย เมื่อลูกอยู่ในเหตุการณ์ หรือภาวะที่อาจเกิดอันตรายได้ คุณจะต้องควบคุมอารมณ์ของคุณ และตัดสินใจทำการห้ามเขาให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำร้ายเขา (ด้วยการตี หรือดุเสียงดังจนลูกกลัว ร้องไห้จ้า) เช่น ลูกเล่นมีด ที่วางอยู่บนโต๊ะ ถ้าปล่อยให้เล่น ก็จะมีอันตรายคุณก็จำเป็นจะต้องจัดการ เอามีดออกจากมือของเขาให้ได้ หรือเด็กจะเล่นเตารีดที่ร้อน คุณก็ต้องมีวิธี ที่จะห้ามเขาให้ได้ และสอนให้เขารู้ว้า อาจจะมีอันตราย ถ้าเขายังขืนทำอีก ฯลฯ เป็นต้น
ทางที่ดีควรหาทางป้องกัน ไม่ให้ลุกอยุ่ใกล้ของที่เป็นอันตราย หรือเก็บให้พ้นมือเด็กจะดีกว่า ในบางครั้งจะดูเหมือนลูก เป็นคนเอาแต่ใจตัว ถ้าเขาไม่ชอบให้อุ้ม เขาก็จะดิ้น ทำตัวอ่อนลื่นไหล หลุดจากอ้อมกอดของคุณได้โดยง่าย หรือถ้าเขาอยากจะได้อะไร ก็จะพยายามเอาจนได้ ทำให้ดูเหมือนดื้อ และจะร้อง (บางครั้งอาละวาด) ถ้าไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับคุณว่า จะมีการตอบสนองกับเขาอย่างไร ฉะนั้นคุณเองอาจต้องมามองว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการร้องดิ้นมากนั้นเกิดจากอะไร และเราจะหาทางหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำบ่อยได้ไหม ถ้าพบว่า เป็นเพียงเพราะเขาหิว หรือกำลังง่วง เมื่อให้นม และให้เขานอนก็จะดีขึ้น
ที่มา : พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม.... อย่าลืมติดตามอ่าน พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 11 "หนูอยากทำเอง" ....